บรรณาธิการหนังสือพิมพ์กับความรับผิดฐานหมิ่นประมาท

ชนินาฏ ลีดส์

สื่อมวลชนเป็นสถาบันทางสังคมที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของสังคม ความมั่นคงของรัฐ และเป็นสถาบันที่อาจชี้นำสังคมไปในทิศทางที่ดีหรือเสื่อมทรามได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับจริยธรรมและความรับผิดชอบของสื่อมวลชนต่อสังคม ประเทศไทยมีการรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนมาโดยตลอดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับต่างๆ รวมตลอดถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็บัญญัติให้การรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพดังกล่าว เช่น มาตรา 39 วรรคหนึ่ง การแสดงความคิดเห็น การเสนอข่าว ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา หรือการสื่อความหมายโดยวิธีการอื่นใด แต่อย่างไรก็ดี เสรีภาพดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตอันชอบธรรมที่รัฐอาจกำหนดข้อจำกัดโดยมีวัตถุประสงค์ดังที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้คือ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน รัฐจะอ้างวัตถุประสงค์อื่นในการบัญญัติกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิดังกล่าวหาได้ไม่ นอกจากนี้ มาตรา 39 วรรคสาม ก็บัญญัติห้ามปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือ สถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา 39 วรรคสี่ ก็บัญญัติห้ามสั่งให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการสั่งในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ และมาตรา 41 ที่บัญญัติให้พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพ เป็นต้น

เนื่องจากสื่อมวลชนทุกสาขาต่างมีบทบาทหน้าที่สำคัญหลายประการ ดังนี้

•  บทบาทในฐานะผู้แจ้งข่าวสารอันเป็นบทบาทในการรายงานข่าวสารให้มวลชนหรือประชาชนผู้รับข่าวสารทราบว่ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น และเนื่องจากสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมเปิด ประกอบกับพัฒนาการของเทคโนโลยีในการสื่อสารที่มีความทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้รายงานข่าวของสื่อมวลชนเป็นการรายงานข่าวอย่างกว้างขวางและทั่วถึงทั้งในสังคมนั้นและสังคมอื่นๆด้วย

•  บทบาทในฐานะสุนัขเฝ้าบ้าน เป็นบทบาทในการสอบสวนและรายงานถึงสิ่งที่เป็นอันตรายทั้งทางร่างกาย เศรษฐกิจ หรือการเมืองต่อประชาชนผู้รับข่าวสาร และหมายความรวมถึงการนำเสนอความก้าวหน้าทางสังคมในด้านต่างๆด้วย

•  บทบาทในฐานะเป็นตัวกลาง ซึ่งมีอยู่สองลักษณะ คือ การเป็นตัวกลางระหว่างแหล่งข่าวกับผู้รับข่าวสาร และการเป็นตัวกลางระหว่างแหล่งข่าวกับแหล่งข่าวด้วยกันเอง

•  บทบาทในฐานะเป็นตัวเชื่อม ซึ่งเป็นขั้นตอนของการถ่ายทอดข่าวสารจากแหล่งข่าวไปสู่ผู้รับข่าวสารโดยการเชื่อมโยงทวีปกับทวีป หรือเชื่อโยงอดีตกับอนาคต อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมของกันและกันระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ห่างไกลกัน หรืออาจเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมจากยุคสมัยหนึ่งไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง

•  บทบาทในฐานะเป็นผู้เฝ้าประตู เนื่องจากสื่อมวลชนจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งข่าวกับผู้รับข่าวสาร และเป็นตัวกลางระหว่างแหล่งข่าวด้วยกันเอง ดังนั้น สื่อมวลชนในฐานะตัวกลางจึงมีหน้าที่ที่จะวินิจฉัยว่าควรจะส่งข่าวสารใดไปยังผู้รับข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่าน ผู้ฟัง หรือผู้รับชม อันเป็นแนวทางในการเลือกที่จะนำเสนอหรือปฏิเสธที่จะไม่นำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยพิจารณาจากปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแนวทางเหล่านั้น เช่น พิจารณาจากคุณค่าของข่าว หรือพิจารณาจากเนื้อที่หรือเวลาในการนำเสนอของสื่อมวลชน เป็นต้น

จากบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชนดังกล่าวแล้วข้างต้น สื่อมวลชนจึงต้องแสวงหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมตลอดถึงการแสดงความคิดเห็นเองและให้โอกาสประชาชนได้แสดงความคิดเห็นส่งผ่านทางสื่อมวลชนออกสู่การรับรู้ของสังคม การแสวงหาข้อมูลนี้ประกอบไปด้วยข้อมูลทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และข้อมูลอื่นที่สาธารณชนจำเป็นต้องรับรู้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจหรือสร้างเชื่อมั่นในตัวบุคคลหรือลดความน่าเชื่อถือศรัทธาที่เคยมีต่อบุคคลบางคนหรือบางกลุ่ม โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยประชาชนจำเป็นต้องทราบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการบริหารประเทศ บทบาทของพรรคการเมือง เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเลือกตั้งในแต่ละครั้งอย่างมาก การทำหน้าที่ดังกล่าวควรจะได้รับการคุ้มครองและปกป้องจากรัฐ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำงานของสื่อสารมวลชนในบางกรณีหากกระทำในสิ่งที่เกินความจำเป็นหรือมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้ากำไรจากข่าวจนเกินสมควร อาจเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของปัจเจกชนได้ โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวในทางเสียหายของบุคคลที่แม้จะเป็นที่สนใจของประชาชนแต่ข่าวนั้นมิใช่ข่าวอันมีลักษณะเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน การเสนอข่าวเช่นนี้ก็ไม่ควรจะได้รับความคุ้มครองและควรจะได้รับโทษหนักกว่าบุคคลทั่วไปเพราะเนื่องจากสื่อมวลชนมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการเผยแพร่ข่าวได้อย่างกว้างขวาง ความเสียหายของบุคคลที่ถูกล่วงละเมิดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรมก็ย่อมทวีความเสียหายยิ่งขึ้น อีกทั้งการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นและโทษที่สื่อมวลชนได้รับ อาจไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้เลยหรือไม่เพียงพอกับเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความน่าเชื่อถือศรัทธาที่ผู้เสียหายได้สร้างสมมานานปี ดังนี้ จริยธรรมของสื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งที่สถาบันหรือองค์กรกลางที่เกิดจากการรวมตัวกันของสื่อมวลชนควรจะได้ตระหนักและช่วยกันควบคุม

สื่อมวลชนทุกแขนงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 39 ให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน การลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้จะกระทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือการเรียกให้นำข่าวหรือบทความมาตรวจก่อนพิมพ์ หรือก่อนโฆษณาในวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ก็ตาม

หนังสือพิมพ์เป็นสาขาหนึ่งของสื่อมวลชน ที่กล่าวได้ว่าเป็นสื่อมวลชนที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้กว้างขวางที่สุด และเป็นสื่อที่เก่าแก่ ในแต่ละวันจะต้องมีประชาชนชาวไทยหลายล้านคนอ่านเพื่อทราบข่าวสารของบ้านเมือง สังคม ธุรกิจ รวมถึงบันเทิงคดีต่างๆ การเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์จึงมีผลต่อความรับรู้ของประชาชนจำนวนมาก จึงเป็นการง่ายหากหนังสือพิมพ์จะเสนอข่าวอันเป็นเท็จหรือยุยงให้สังคมวุ่นวายไม่ปกติสุข ดังนั้น จึงได้มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการพิมพ์ขึ้นคือ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งบัญญัติขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆและหนังสือพิมพ์ มีการบัญญัติถึงเงื่อนไขของบุคคลที่จะประกอบวิชาชีพเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น คุณสมบัติของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ เป็นต้น และบัญญัติให้บุคคลต้องรับผิดในฐานเป็นตัวการ สำหรับความผิดที่นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ที่เกิดจากการโฆษณาสิ่งพิมพ์นั้น กล่าวคือถ้าเป็นสิ่งพิมพ์อื่นนอกจากหนังสือพิมพ์ให้ผู้ประพันธ์ต้องรับผิดในฐานเป็นตัวการ ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ ส่วนกรณีที่เป็นหนังสือพิมพ์ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องร่วมกันรับผิดฐานเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย (มาตรา 48) ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือพิมพ์เท่านั้น

พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการเผยแพร่ข่าวของหนังสือพิมพ์มิให้มีผลกระทบต่อการใช้อำนาจหน้าที่บริหารประเทศของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยอำนาจหน้าที่หลายประการ เช่น อำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของประเทศ รักษาความสงบสุขและป้องกันการเสื่อมทรามในสังคม เป็นต้น หากรัฐปล่อยให้หนังสือพิมพ์เสนอข่าวอย่างอิสระไม่มีขอบเขต อาจมีการนำข่าวสารที่เป็นความลับของทางราชการออกเผยแพร่ต่อประชาชนซึ่งอาจมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของชาติ หรืออาจมีการเผยแพร่ข่าวในลักษณะมอมเมาประชาชนจนสังคมเกิดความโกลาหนวุ่นวาย ดังนั้นพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 จึงบัญญัติ ห้ามโฆษณาความลับของทางราชการ (มาตรา 33 ) ในกรณีจำเป็นให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งห้ามโฆษณาเรื่องที่เกี่ยวราชการทหารหรือการเมืองระหว่างประเทศได้ (มาตรา 34) และในกรณีที่ประเทศมีเหตุฉุกเฉินหรือตกอยู่ในภาวะสงคราม ก็ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งให้เสนอข้อความที่จะลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ให้เจ้าหน้าที่ตรวจข่าวตรวจก่อน (มาตรา 35) และในกรณีที่เจ้าพนักงานการพิมพ์เห็นว่า การโฆษณา หรือการเตรียมการโฆษณาสิ่งพิมพ์ใด อาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกจากนี้มาตรา 9 ก็บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ที่จะมีคำสั่งห้ามการขายหรือจ่ายแจกสิ่งพิมพ์นั้นได้

ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 48 วรรคสองที่บัญญัติให้ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการในความผิดอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 โดยให้ผู้ประพันธ์ต้องรับผิดร่วมกับบรรณาธิการ หากไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์จึงจะเอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในเรื่องหมิ่นประมาท มาตรา 326 ที่ว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท การใส่ความผู้อื่นตามมาตรา 326 นั้นได้แก่ การยืนยันข้อเท็จจริงใดเกี่ยวกับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งอาจเป็นทั้งความจริงและความเท็จก็ได้ หากผู้ถูกใส่ความนั้นได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งสิ้น ส่วนผู้กระทำจะมีความผิดหรือต้องรับโทษหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับข้อยกเว้นที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 329 ถึง 331 ดังนี้

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเป็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งอื่นใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษแต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรา 331 คู่ความหรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

บรรณาธิการ และผู้พิมพ์จะต้องรับผิดเป็นตัวการตามมาตรา 328 ที่ว่า “ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น... ” ซึ่งเป็นบทเพิ่มโทษการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทให้สูงขึ้น

นอกจากความผิดทางอาญาแล้วความผิดฐานหมิ่นประมาทยังต้องมีความรับผิดทางแพ่งฐานละเมิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ที่บัญญัติว่า “ ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้... ”

ลักษณะการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ที่มักจะถูกฟ้องในคดีหมิ่นประมาทอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ

1. การเสนอข่าวที่ไม่มีผลกระทบต่อสาธารณชน แต่เป็นข่าวของบุคคลที่เป็นที่สนใจของประชาชน เช่น ข่าวของดารา นักแสดง นักร้อง นักกีฬา ข่าวในลักษณะนี้บางครั้งเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ที่ประชาชนสนใจ แม้สื่อมวลชนจะเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า “ บุคคลสาธารณะ ” เพราะเป็นผู้ที่เสนอตัวให้เป็นคนของประชาชน แต่บุคคลดังกล่าวย่อมมีสิทธิที่จะสงวนความเป็นส่วนตัวของตนได้ และการเสนอข่าวของสื่อมวลชนรวมทั้งหนังสือพิมพ์ในบางกรณีมีลักษณะทำให้ผู้ตกเป็นข่าวเสียหาย เสียชื่อเสียงและอาจถึงขั้นเสียความนิยมในตัวผู้นั้น การเสนอข่าวโดยขาดความระมัดระวังที่จะรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของผู้อื่น มุ่งเน้นในการค้ากำไรมากกว่าการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดีและสุจริต ทั้งยังเป็นการละเลยจรรยาบรรณของสื่อมวลชน เช่นนี้ผู้เสนอข่าวไม่ควรได้รับความคุ้มครองและควรจะมีมาตรการลงโทษทั้งทางกฎหมายและทางจรรยาบรรณของสื่อมวลชนประเภทนั้นๆด้วย

2.การเสนอข้อมูลที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเสนอใน 2 รูปแบบ ได้แก่

2.1 การเสนอข้อมูลในรูปการแสดงความเห็น การติชม หรือการวิพากษ์วิจารณ์ การเสนอข้อมูลลักษณะนี้ถ้าได้กระทำโดยสุจริตก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 (3)
2.2 การเสนอข้อมูลในลักษณะข่าวที่ได้จากแหล่งข่าว เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติใน มาตรา 329 ถึง 331 ดูเหมือนผู้เสนอข้อมูลยังได้รับความคุ้มครองไม่เพียงพอ ซึ่งผู้เขียนขอแยกประเด็นพิจารณาดังนี้

ประเด็นที่ 1 เสนอข่าวที่มีลักษณะเป็นการเสนอข้อเท็จจริง (Facts) ซึ่งเป็นเรื่องที่สาธารณชนควรมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะรับรู้ ควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษและแตกต่างกับการเสนอข่าวที่เป็นการค้าหรือการเสนอความเห็นทั่วไป เพราะพระราชบัญญัติการพิมพ์ฯ มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ทำหน้าที่บรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ทั้งหลายให้ต้องมีจิตสำนึกในการเลือกสรรกลั่นกรองข่าวหรือบทประพันธ์เพื่อลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ฉะนั้นหากบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีเจตนาใส่ความให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเสียหาย และตนได้ใช้ความระมัดระวังในการกลั่นกรองข่าวอย่างดีซึ่งบุคคลในหน้าที่บรรณาธิการโดยทั่วไปจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์นั้น การกระทำของบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ก็ไม่น่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเลย และเมื่อพิจารณาข้อยกเว้นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 329 ถึง 331 บรรณาธิการหรือผู้พิมพ์มีโอกาสเดียวที่จะพิสูจน์เพื่อให้ตนพ้นอาญาได้เพียงประการเดียวคือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ 2 ประการ ได้แก่ 1.ข่าวหรือข้อเท็จจริงนั้นเป็น ประโยชน์แก่ประชาชนและ 2.ข่าวหรือข้อเท็จจริงที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง บรรณาธิการหรือผู้พิมพ์จึงจะไม่ต้องรับโทษ ปัญหาว่าการพิสูจน์ว่าข่าวหรือข้อเท็จจริงนั้นเป็นความจริงย่อมกระทำได้ยาก ผลที่ตามมาคือแหล่งข่าวต้องล้วงลึกข้อเท็จจริงให้ชัดเจนยิ่งขึ้นซึ่งอาจทำให้ได้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งแหล่งข่าวยังอาจต้องเสี่ยงภัยต่อแสวงหาพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์ เมื่อการหาข่าวทำได้ยากขึ้นเสี่ยงภัยมากขึ้น บรรณาธิการหรือผู้พิมพ์บางคนอาจต้องถอดใจยอมละเลยต่อการเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อาจเหลือบรรณาธิการหรือผู้พิมพ์เพียงไม่กี่คนที่มุ่งมั่นในอุดมการณ์ ผู้ต้องเสียหายโดยตรงคือประชาชนที่ไม่มีโอกาสได้บริโภคข่าวที่เป็นแก่นสารสำคัญ การตัดสินใจทางการเมืองอย่างอิสระและเป็นประชาธิปไตยถดถอย มีความคิดเห็นตามแนวทางที่กลุ่มอิทธิพลหรือนักการเมืองชักนำ จึงขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 76 ที่ว่า “รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองรวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ” ถ้าไม่มีกลไกที่จะให้ข้อมูลในเชิงสาธารณประโยชน์เสียแล้ว ประชาชนจะใช้สิ่งใดประกอบการมีส่วนร่วม การตัดสินใจ รวมทั้งตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้ยังเป็นข้อที่น่าสงสัยอยู่

ประเด็นที่ 2 หากพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา หมวด 3 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ถึง 331 เท่านั้น เมื่อมีการเสนอ ข่าวหรือข้อเท็จจริง ที่สาธารณชนควรมีสิทธิได้รับรู้ ถ้าการเสนอข่าวเช่นว่านี้มีผลเป็นการทำให้ผู้อื่นน่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันเป็นการหมิ่นประมาทผู้ตกเป็นข่าวนั้น ผู้เสนอข่าวหรือผู้พิมพ์และบรรณาธิการมีความผิดฐานหมิ่นประมาทสำเร็จแล้ว แต่อาจไม่ต้องรับโทษถ้าพิสูจน์ได้ว่าข่าวนั้นเป็นความจริง แต่ถ้ามีการพิจารณากฎหมายสูงสุดของประเทศอันได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชนอันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำไม่ได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ” บทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อยกเว้น สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แสดงว่าการเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนเป็นอำนาจอันชอบธรรมที่รัฐธรรมนูญรับรองว่าอยู่เหนือกว่าสิทธิของปัจเจกชน ผู้กล่าวหรือไขข่าวเช่นว่าจึงไม่มีความผิดแต่เหตุใด เมื่อผู้ประพันธ์หรือผู้พิมพ์และบรรณาธิการถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทในเหตุเดียวกันนี้จึงมีความผิดเพียงแต่อาจจะไม่ต้องรับโทษ เมื่อพิเคราะห์ทบทวนแล้วเสมือนว่ามาตรา 34 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญฯ เป็นมาตราที่ถูกลืมไปกระนั้นหรือ ประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติการพิมพ์ฯ มีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯหรือไม่ และถ้าขัดหรือแย้งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมใช้บังคับไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฯมาตรา 6 บัญญัติว่า “ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ” ปัญหานี้คงต้องส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งอาจเสนอโดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 198 หรือโดยศาลยุติธรรมเมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติดังกล่าวต้องด้วยมาตรา 6 ข้างต้น ตามรัฐธรรมนูญฯมาตรา 264 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยประการใด คำวินิจฉัยนั้นย่อมเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ ตามมาตรา 268 ความคิดเห็นในประเด็นนี้น่าจะเป็นความหวังและทางเลือกหนึ่งของบรรณาธิการและผู้พิมพ์ที่จะปลดเปลื้องแอกหนักอึ้งทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่สื่อมวลชนได้อย่างสมศักดิ์ศรี

ประเด็นที่ 3 ผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยตรงคือตัวผู้ประพันธ์ ส่วนบรรณาธิการและผู้พิมพ์มิใช่ผู้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทโดยตรงหากแต่เป็นผู้ที่พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 48 บัญญัติให้ต้องรับผิดเป็นตัวการเท่านั้น วิถีทางการเมืองที่กลั่นแกล้งให้บรรณาธิการหรือผู้พิมพ์หมดกำลังใจและท้อแท้อีกทางหนึ่งคือ ผู้ที่ตกเป็นข่าวจะฟ้องเฉพาะบรรณาธิการโดยไม่ฟ้องผู้ประพันธ์ทั้งที่ทราบว่าผู้ประพันธ์เป็นใคร หรือฟ้องทั้งผู้ประพันธ์และบรรณาธิการแต่ยอมถอนฟ้องเฉพาะผู้ประพันธ์ปล่อยให้บรรณาธิการเผชิญชะตากรรมแต่ลำพัง ประเด็นนี้เป็นช่องว่างที่นักการเมืองอาจนำมาใช้ปรามทั้งผู้ประพันธ์และบรรณาธิการในคราวเดียวกัน ผู้ประพันธ์บางคนอาจหลาบจำไม่กล้าเขียนบทความหรือข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกันอีก ส่วนบรรณาธิการยังต้องรับโทษในการกระทำของบุคคลอื่น เสมือนว่าบทบัญญัติของกฎหมายละเลยต่อหน้าที่และบทบาทของสื่อมวลชนที่ต้องนำเสนอข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้ในทุกแง่มุม และเปิดโอกาสให้ผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมืองใช้ผู้ประพันธ์เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบรรณาธิการได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญและสมควรได้มีการแก้ไขโดยไม่ชักช้า

ประเด็นที่ 4 การฟ้องคดีในลักษณะกลั่นแกล้งบรรณาธิการ โดย ในกรณีที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวหรือข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ผู้ที่ตกเป็นข่าวจะใช้วิธีฟ้องผู้ประพันธ์หรือผู้พิมพ์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในหลายจังหวัดที่มีการจำหน่ายหนังสือพิมพ์นั้น เช่น คดีแรกอาจฟ้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน คดีที่สองอาจฟ้องที่จังหวัดนครพนมและคดีที่สามอาจฟ้องที่จังหวัดยะลา บรรณาธิการต้องเดินทางไปจังหวัดเหล่านั้นเพื่อต่อสู้คดี เสียทั้งเวลาทั้งค่าใช้จ่าย และอาจแพ้คดีจากช่องว่างของกฎหมายและการพิจารณาคดี ปัญหาว่าเหตุใดการลงพิมพ์ข้อความหรือข่าวในหนังสือพิมพ์เพียงครั้งเดียวทำไมผู้ประพันธ์หรือผู้พิมพ์และบรรณาธิการจึงถูกฟ้องเป็นจำเลยจากการกระทำความผิดครั้งเดียวในหลายศาลได้ คำตอบปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 ที่ว่า “ เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น... ” การกระทำของผู้ประพันธ์ที่หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ย่อมเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในทุกสถานที่ที่มีการจำหน่ายหนังสือพิมพ์นั้น บทบัญญัตินี้ยุติธรรมต่อผู้กระทำผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสองที่ว่า “ นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้
(1)ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น...”

มาตรานี้เป็นบทบัญญัติห้ามฟ้องซ้อน ซึ่งมีหลักว่า เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลใดศาลหนึ่งแล้ว โจทก์จะฟ้องจำเลยคนเดิมในเรื่องเดียวกันต่อศาลใดๆอีกไม่ได้ คำว่า “ เรื่องเดียวกัน ” หมายถึงมูลเหตุที่ฟ้องคดีเป็นมูลเดียวกัน ทั้งนี้ บทบัญญัติห้ามฟ้องซ้อนนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าการหมิ่นประมาทมีการกระทำเพียงครั้งเดียวแม้ผลของการกระทำจะเกิดในเขตอำนาจของศาลหลายศาล เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลใดศาลหนึ่งแล้ว โจทก์จะฟ้องจำเลยต่อศาลอื่นไม่ได้เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามกฎหมาย นอกจากนี้ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 ที่ว่า “ ห้ามมิให้ศาลยุติธรรมศาลใดศาลหนึ่งรับคดีซึ่งศาลยุติธรรมอื่นได้สั่งรับประทับฟ้องโดยชอบแล้วไว้พิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีนั้นจะได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ” ประเด็นนี้จำเลยจึงสามารถยกเรื่องฟ้องซ้อนประกอบกับการที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตขึ้นต่อสู้ในศาลที่โจทก์ยื่นฟ้องภายหลังจากศาลแรกได้รับประทับฟ้องไว้แล้วได้ แม้จำเลยจะไม่สามารถป้องกันมิให้โจทก์ฟ้องซ้อนได้แต่จำเลยแก้ไขได้โดยยกข้อต่อสู้ดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้มีแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาที่ตัดสินไว้ชัดเจนดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2532 พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์กับพนักงานอัยการโจทก์ในคดีนี้ต่างฟ้องกล่าวหาจำเลยลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับเดียวกัน แม้ข้อความที่ฟ้องแต่ละคดีจะเป็นคนละบทความกันและลงพิมพ์ต่างหน้ากันก็ตาม แต่บทความที่โจทก์ในคดีนี้และพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องลงในหนังสือพิมพ์ซึ่งจำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาฉบับเดียวกัน ทั้งเป็นข้อความที่กล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีจึงเป็นเรื่องเดียวกัน พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์โจทก์ในอีกคดีหนึ่งกับโจทก์ในคดีนี้ต่างเป็นพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(5) และมาตรา 28(1) จึงเป็นพนักงานอัยการโจทก์ด้วยกัน การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยอีกจึงเป็นการฟ้องซ้อนต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15

แม้ปัญหาเรื่องการห้ามฟ้องซ้อนจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดร้องขอก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติศาลแต่ละศาลจะไม่อาจทราบได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยถูกฟ้องที่ศาลใดมาก่อนหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยและทนายจำเลยที่จะยกขึ้นต่อสู้ในศาล ดังคำที่ว่า “ ตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งแห่งตน ”

ที่ผู้เขียนให้ความสนใจกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ก็เนื่องจาก ผู้เขียนมีความกังวลว่า หากหนังสือพิมพ์โดยบรรณาธิการถูกข่มเหงรังแกหนักขึ้น ในอนาคตอาจยากจะหาหนังสือพิมพ์ที่มีอุดมการณ์และความกล้าพอจะจรรโลงสังคมประชาธิปไตยให้ยั่งยืน โปร่งใสและเป็นธรรมโดยการเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไป แล้วสังคมจะอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างไร

กลับไปด้านบนกลับด้านบน

ติดต่อชนินาฏอีเมลชนินาฏนะคะchaninatz@yahoo.co.th