หวยบนดิน

ส . บางไผ่ ่

 

บทความเรื่องนี้ได้เขียนขึ้นต่อเนื่องจากบทความตอนแรกเพราะหลังจากออกบทความตอนแรกไปแล้วผู้มีอำนาจ และเนติบริกรในกระทรวงการคลังได้เขียนโต้แย้งว่า บทความดังกล่าวไม่ถูกต้องหลายประการผู้เขียนจึงจำเป็นต้องเขียนตอนที่สองขึ้นมา เพื่อชี้แจงและให้เหตุผลเพิ่มเติมจากบทความตอนแรก ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าผู้โต้แย้งดังกล่าวอาจไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้พิจารณาประกอบกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบที่อาจตามมา หรืออาจเป็นเพราะทำไปแล้วถอยหลังไม่ได้ แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจได้ ง่ายขึ้นจึงขอท้าวข้อความถึงบทความตอนแรกเพื่อเป็นพื้นฐานประกอบการเขียนบทความตอนที่ 2

บทความตอนแรกได้เขียนสรุปไว้ว่า ตามที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ออกสลากเลข 3 ตัว 2 ตัว โดยเลข 3 ตัว ได้รับรางวัลบาทละ 500 บาท เลข 2 ตัวได้รับรางวัล บาทละ 65 บาท หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า “ หวยบนดิน ” นั้น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากหรือหวยดังกล่าวได้หรือไม่

ก่อนที่จะตอบปัญหาดังกล่าว ขอยกกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการเข้าใจปัญหาดังกล่าวพอเป็นสังเขปดังนี้

พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ . ศ . 2517 มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “ ให้จัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งขึ้นเรียกว่า “ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

•  ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล

•  จัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ

3) กระทำการอื่นใด ที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการ ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

มาตรา 9 “ ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 ฯลฯ ”

มาตรา 22 “ เงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้จัดสรรดังนี้

•  ร้อยละหกสิบเป็นเงินรางวัล

•  ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบแปดเป็นรายได้แผ่นดิน

•  ไม่เกินกว่าร้อยละสิบสองเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย ”

จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สลากที่สำนักงานสลากกินแบ่ง รัฐบาลจำหน่ายจะต้องเป็นสลากที่มีการจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก ตามมาตรา 22 กล่าวคือ ต้องนำรายได้ไปแบ่งเป็นเงินรางวัล ร้อยละ 60 ให้นำไปเป็นรายได้แผ่นดิน ร้อยละ 28 ที่เหลืออีกร้อยละ 12 นำไปเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะไปออกสลากที่มีการจัดสรรเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายสลากเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เรามาดูสลาก 2 ตัว 3 ตัว มีการจัดสรรเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายอย่างไร

ตัวอย่าง ในการขายสลาก 2 ตัว 3 ตัว งวดหนึ่ง สำนักงานสลากกินแบ่ง

รัฐบาลได้เงินจากการจำหน่าย 1,000 ล้านบาท แต่มีคนถูกรางวัลจ่ายตามอัตราดังกล่าวข้างต้นรวมเป็นเงิน 50 ล้านบาท คิดเป็นเงินร้อยละ 5 ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก หรืออีกกรณีหนึ่งมีคนถูกรางวัลจ่ายตามอัตราดังกล่าวข้างต้น เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท คิดเป็นเงินร้อยละ 150 ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก ในกรณีแรกสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจ่ายเงินรางวัลไม่ถึงร้อยละ 60 ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก กรณีหลังสำนักงานสลากกินแบ่งจ่ายเงินรางวัลเกินกว่าร้อยละหกสิบของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลาก ทั้งสองกรณีสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลกระทำการขัด มาตรา 22(1) ไม่น่าจะกระทำได้เพราะเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 22 (1) โดยแจ้งชัด จึงอาจกล่าวได้ว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเฉพาะสลากที่กำหนดให้มีการจ่ายเงินรางวัลร้อยละ 60 เท่านั้น หากเป็นสลากที่มีการจ่ายเงินรางวัลไม่ถึงร้อยละ 60 หรือเกินกว่าร้อยละ 60 ของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากแล้ว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ไม่มีอำนาจดำเนินการได้ หากฝ่าฝืนกระทำไป ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการอาจต้องรับผิดต่อไป

และอาจถูกผู้ถูกรางวัลเรียกร้องให้จ่ายเงินรางวัลเพิ่มให้ครบร้อยละ 60 ในกรณีมีผู้ถูกรางวัลน้อยได้

หลังจากที่ได้เขียนบทความตอนแรกดังกล่าวไปแล้ว ผู้มีอำนาจในกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล พ . ศ . 2517 รวมทั้ง

เนติบริกรของฝ่ายรัฐบาลได้ออกมาโต้แย้งบทความของผู้เขียนดังกล่าวโดยมีข้อความสำคัญ

สองประการ ดังนี้

ประการแรก โต้แย้งว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลใช้อำนาจในการออกหวยสองตัว สามตัว ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5(3) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า (3) กระทำการอื่นใดที่

เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยตีความ

อย่างกว้างว่านอกจากวัตถุประสงค์ (1) และ (2) แล้ว สำนักงานสลากกินแบ่งสามารถดำเนินกิจการ

อะไรก็ได้ตามวัตถุประสงค์ (3) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะไม่ถูกต้องเพราะวัตถุประสงค์หลักในการออกพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล พ . ศ . 2517 ได้บัญญัติขึ้นเพื่อให้จำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลดังจะเห็นได้ว่าแม้กระทั่งชื่อก็ยังใช้ชื่อว่า “ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ” คำว่า “ สลากกินแบ่ง ” ก็มีความหมายอยู่ในตัวว่าให้แบ่งรายได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งตาม มาตรา 22 โดยแบ่งกันระหว่างผู้ถูกรางวัล และนำเป็นรายได้แผ่นดินบางส่วน และอีกส่วนหนึ่งให้นำไปเป็นค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงควรต้องตีความใน (3) ประกอบกับ (1) และ (2) ไปพร้อม ๆ กันว่า กิจการอื่นใดใน (3) นั้นต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวกับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลตาม (1) หรือที่เกี่ยวกับการจัดการโรงพิมพ์ตาม (2) หากขยายความใน (3) อย่างกว้างว่าจะออกหวย สองตัว สามตัว หรือทำอะไรก็ได้แล้ว ต่อไปสำนักงานสลากกินแบ่งก็อาศัยอำนาจตาม (3) ไปเปิดรับแทงพนันฟุตบอล เปิดบ่อนการพนัน หรือ แม้กระทั่งประกอบกิจการโรงแรมม่านรูด รวมตลอดทั้งเปิดกิจการโรงอาบ อบ นวดก็ได้ ถ้าจะอ้างว่าสำนักงานสลากกินแบ่งคงไม่ไปดำเนินกิจการดังกล่าว นั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่าหากจะเปิดกิจการดังกล่าวทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ได้ทั้งหมด ถ้าทำได้ ก็ได้ทั้งหมด และต่อไปคงจะต้องไปเปลี่ยนชื่อ “ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ” เป็น

“ สำนักงานอบายมุขของรัฐบาล ” และคงต้องเปลี่ยนชื่อ “ ผู้อำนวยการ ” ตามคำวิเคราะห์ศัพท์เป็นว่า

“ ผู้อำนวยการสำนักงานอบายมุขของรัฐบาล ”

ประการที่สอง ที่ผู้มีอำนาจโต้แย้งมาว่าสลากสองตัว สามตัวหรือหวยบนดินมิใช่สลากกินแบ่งรัฐบาลตามพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องแบ่งหรือ จัดสรรเงินตามมาตรา 22 หากแต่เป็นการออกสลาก สองตัว สามตัว ตามมาตรา 5(3) ดังกล่าวประกอบกับการขออนุญาตกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติการพนันนั้น ขอถามว่าถ้าเช่นนั้นรายได้ที่ได้มาจากการจำหน่ายสลากสองตัว สามตัว จะแบ่งปันหรือจัดสรรอย่างไร ตามกฎหมายฉบับใด โดยเฉพาะเงินที่เหลือจากการให้รางวัลแล้วเป็นเงินที่ต้องหักเข้าเป็นงบประมาณแผ่นดินหรือไม่ อย่างไร และจะนำไปใช้จ่ายอย่างไรไม่ปรากฏชัด แต่เห็นได้ว่าเมื่อให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้จำหน่ายสลาก เงินรายได้ทั้งหมดจะต้องหักเข้าเป็นงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ที่ผ่านมาได้กระทำเช่นนั้นหรือไม่ หากไม่กระทำใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และการดำเนินการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลตามมาตรา 11 และคณะกรรมการได้ใช้อำนาจ และดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 หรือไม่อย่างไร ไม่มีใครทราบ นอกจากนี้ได้พิจารณาหรือไม่ว่า การจำหน่ายสลากสองตัว สามตัว ซึ่งเป็นการจำหน่ายแบบไม่อั้น หรือไม่จำกัดจำนวนเช่นสลากกินแบ่งรัฐบาล และหากในงวดใดล็อกเลขไม่ทัน หรือล็อกเลขไม่อยู่ เลขที่ออกไปตรงกับเลขที่มีคนซื้อเป็นจำนวนมากมาย ต้องจ่ายเงินรางวัลเป็นจำนวนหมื่นล้านบาทมากกว่าเงินที่ได้มาจากการจำหน่ายสลากสองตัว สามตัว สำนักงานสลากกินแบ่งจะเจ๊งหรือไม่ แล้วจะนำเงินจากที่ไหนมาจ่ายเป็นเงินรางวัล หากไปนำเงินจากงบประมาณแผ่นดินมาจ่ายจะผิดกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งจะไปกู้เงินจากหน่วยงาน หรือธนาคารมาจ่ายเป็นเงินรางวัลมีอำนาจกระทำได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบและจะอ้างว่าไปประกันความเสี่ยงกับบริษัทประกันภัยจะทำได้หรือไม่ อาศัยกฎหมายใด หากคิดง่าย ๆ ว่าปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นเพราะสามารถล็อกเลขได้ทุกครั้ง ไม่มีทางที่จะต้องจ่ายเงินรางวัลก้อนมหาศาลดังกล่าว ก็จะมีปัญหาต่อไปว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการฉ้อโกงประชาชนคนยากจนหรือไม่

นอกจากนี้ได้ศึกษาเรื่องภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 อันเป็น

ข้อยกเว้นในการไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 โดยละเอียดแล้วหรือไม่ เพราะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(11) ได้เขียนยกเว้นไว้เพียงว่าเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือสลากออมสินรัฐบาล และ (17) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 126 พ . ศ . 2509 ข้อ 2 ได้กำหนดไว้ว่าเงินได้จากการจำหน่ายหรือส่วนลดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาลได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ในเมื่อผู้มีอำนาจในกระทรวงการคลังและท่านเนติบริกรลงความเห็นว่าสลากสองตัวสามตัว ไม่ใช่สลากกินแบ่งรัฐบาลตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวข้างต้นแล้ว เงินรางวัลที่ผู้ถูกสลาก สองตัว สามตัว รวมทั้งเงินส่วนลดที่ผู้จำหน่ายสลากได้มาย่อมไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายด้วย ท่านผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ดังกล่าวไว้หรือไม่ กรมสรรพากรได้ไปตามเก็บภาษีเงินได้จากผู้ถูกสลาก สองตัว สามตัว และจากผู้ได้เงินส่วนลดจากการจำหน่ายสลาก

ดังกล่าวหรือไม่เพราะเหตุใด ท่านได้ไปแก้กฎหมายให้ยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวไว้หรือไม่ หากไม่ได้แก้กฎหมายและไม่ได้หักภาษีเงินได้และไม่ได้ตามไปเก็บภาษีเงินได้ดังกล่าวไว้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้มีอำนาจกระทรวงการคลังฝ่ายการเมือง หรือข้าราชการประจำในกระทรวงการคลังผู้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือนโยบายของฝ่ายการเมืองต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีอากรในกรณีดังกล่าวแล้วหรือไม่เพียงใด

ขณะนี้ผู้มีอำนาจฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายให้จำหน่ายสลากกินรวบสองตัว สามตัว รวมทั้งข้าราชการประจำที่อาศัยบารมีและสนองนโยบายของข้าราชการฝ่ายการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามกฎหมาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ในขณะนี้คงไม่มีใครกล้าดำเนินการในการกระทำผิดของท่านเพราะท่านทั้งหลายยังมีอำนาจวาสนาอยู่ แต่ท่านทั้งหลายได้พึงสังวรไว้ว่า อำนาจวาสนาเป็นของไม่ยั่งยืนอาจหมดไปได้ในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ แต่การกระทำความผิดและละเลยต่อหน้าที่ ที่ท่านได้ก่อไว้ มันเป็นของยั่งยืนซึ่งคงอยู่ต่อไปเป็นเวลานานและอาจมีผู้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาดำเนินการในความผิดที่ท่านได้ก่อไว้เมื่อไหร่ก็ได้ และเมื่อนั้นท่านจะแก้ตัวว่าท่านบกพร่องโดยสุจริตคงไม่ได้ เพราะคดีของท่านไม่ได้ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ หากแต่ต้องไปพิจารณาที่ศาลยุติธรรม หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วแต่กรณี ซึ่งที่นั่นไม่มีคำว่า “ บกพร่องโดยสุจริต ”

กลับไปด้านบนกลับด้านบน

ติดต่อชนินาฏอีเมลชนินาฏนะคะchaninatz@yahoo.co.th