ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากรถจักรยานยนต์รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร

ส. บางไผ่

รถจักรยานยนต์รับจ้างที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คือ รถจักรยานยนต์ที่ผู้ขับขี่รับจ้างขนส่ง
ผู้โดยสาร ตามตรอก ตามซอย ตามถนน และในสถานที่ต่าง ๆ เกือบทุกแห่งทั่วประเทศ
นับจำนวนได้เป็นแสนแสนคัน ที่มากที่สุดอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยมีการจัดแบ่งเป็นคิวต่าง ๆ มีสัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัด คือ ผู้ขับขี่จะสวมใส่เสื้อกั้กสีต่าง ๆ ติดหมายเลขตามที่ผู้จัดคิวกำหนดให้ บางคิวอาจมีชื่อสถานที่ ชื่อซอย ชื่อบุคคล ชื่อ ส.ส. แม้กระทั่งชื่อพรรคการเมืองติดอยู่ที่เสื้อกั้กด้วยก็มี ในเขตสถานีตำรวจท้องที่หนึ่ง ๆ ในกรุงเทพมหานคร มีคิวรถจักรยานยนต์รับจ้างอยู่หลายคิว เริ่มตั้งแต่ 20, 30, 40, 50 ถึงร้อย ๆ คิวก็มี ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเหล่านี้วิ่งรับส่งผู้โดยสารได้อย่างไร ใครเป็นผู้จัดคิว จะต้องเสียเงินค่าเข้าคิว และเสียเงินค่าธรรมเนียมรายวันหรือไม่ เท่าไร อย่างไร ให้แก่ใคร จะไม่ขอกล่าวถึง เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนส่วนใหญ่ทราบและเข้าใจดีอยู่แล้ว

ที่จะกล่าวถึงในเรื่องนี้ก็คือ เมื่อคนขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างดังกล่าว ได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารหรือผู้อื่นได้รับความเสียหายจากการขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแล้ว ใครบ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น
นายแดงขับรถจักรยานยนต์รับจ้างซึ่งมีคิวอยู่ที่ปากซอย “ อยู่ดี ” ในท้องที่ สน. “ ชื่นใจ ” ตกลงรับจ้างนายเขียวซึ่งมีภรรยาและบุตร 2 คน และทำงานอยู่ที่บริษัทโทนี่บุช จำกัด ได้เงินเดือน ๆ ละ 30,000 บาท ให้นั่งซ้อนท้ายไปส่งที่หมู่บ้าน “ ปลอดภัย ” ในราคาค่าจ้าง 80 บาท ในระหว่างทางขับไป นายแดงขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงมากและด้วยความประมาทไม่ระมัดระวัง เป็นเหตุให้นายเขียวไปกระแทกกับเสาไฟฟ้า ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึงแก่ความตายก็ดี หรือ
ทุพพลภาพไม่สามารถทำงานต่อไปได้ก็ดี ดังนี้ บุตรและภรรยาของนายเขียว ในกรณีที่นายเขียวถึงแก่ความตาย หรือตัวนายเขียวเอง ในกรณีที่นายเขียวทุพพลภาพทำให้ขาดความสามารถในการทำงานในอนาคต แล้วแต่กรณี จะเรียกร้องค่าเสียหายได้จากผู้ใดบ้าง หากจะตอบว่า เรียกค่ารักษาพยาบาลตาม พ.ร.บ. ประกันภัย เบื้องต้นได้ 50,000 บาท ส่วนที่เหลือและค่า
เสียหายอื่น ๆ ให้ไปเรียกร้องเอาจากนายแดงผู้ทำละเมิดหรือผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย หาก
นายแดงไม่มีจะจ่ายก็จบกันแค่นั้น ผมคงไม่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเป็นเรื่องที่คนส่วนมากทราบดีอยู่แล้ว

ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพื่อแสดงความคิดเห็นให้ทราบว่า นอกจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแล้ว ยังมีบุคคลอื่นหรือหน่วยงานอื่นที่อาจต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ขนส่งผู้โดยสารด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ก่อนจะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ขอยกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บางตอนมาอ้าง เพื่อความเข้าใจและเป็นแนวทาง ดังนี้

พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522

มาตรา 4 (1) “ การขนส่ง ” หมายความว่า การขนคน สัตว์ หรือสิ่งของโดยทางบกด้วย

มาตรา 4 (9) “ รถ ” หมายความว่า ยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนทางบกซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น และหมายความรวมตลอดถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย เว้นแต่รถไฟ

มาตรา 23 บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งประจำทาง การขนส่งไม่ประจำทาง การขนส่งโดยรถขนาดเล็ก หรือการขนส่งส่วนบุคคล เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน

มาตรา 126 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 23 ( คือประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาต) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึง หนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 92 ประกอบมาตรา 93 เมื่อพิจารณาจาก 2 มาตรานี้แล้ว ได้ความว่า ห้ามมิให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถขนส่ง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

มาตรา 151 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 93 คือ ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 112 ผู้โดยสารต้องชำระค่าขนส่งและค่าบริการอย่างอื่นตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา 159 ผู้ใดเรียกเก็บค่าขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง ค่าบริการเกี่ยวกับการดำเนินการของสถานีขนส่ง หรือค่าบริการอื่น ผิดไปจากอัตราที่คณะกรรมการกำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา 52 ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทาง และผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยรถขนาดเล็ก ต้องวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลไทย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างร่วมกัน ต่อนายทะเบียนกลางเพื่อประกันความเสียหาย อันเกิดแก่ชีวิต หรือร่างกายของบุคคลภายนอก และซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งจะต้องรับผิดชอบเนื่องจากการขนส่งของตน ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ และตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 57 เมื่อผู้เสียหายหรือทายาทในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ประสงค์จะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ให้ยื่นคำขอตามแบบที่กรมตำรวจ (เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานตำรวจ
แห่งชาติ) กำหนดต่อพนักงานสอบสวน โดยแสดงพยานหลักฐานว่าผู้เสียหายได้รับความ
เสียหายจากรถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ให้พนักงานสอบสวนพิจารณาจากสำนวนการสอบสวน และเมื่อเห็นว่า ความเสียหายได้เกิดขึ้นจากรถของผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่งคนใด ให้มีหนังสือสั่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งซึ่งเป็นเจ้าของรถคันนั้น ชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้ตามจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง ในการนี้ให้แจ้งให้นายทะเบียนกลางทราบโดยเร็วด้วย

ในการสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาสั่งภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ

ในการชดใช้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องชำระภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากพนักงานสอบสวน

จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า “ รัฐ ” ห่วงใยในความปลอดภัยของผู้โดยสารและผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการขนส่ง จึงออกกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการขนส่งรวมทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากฝ่าฝืนมีความผิดทางอาญาถึงขั้นมีโทษจำคุกตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งได้กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งต้องวางหลักประกันในการขนอนุญาต ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า เมื่อเกิดความเสียหายกับผู้โดยสารหรือบุคคลอื่น อันเนื่องจากการขนส่งแล้ว ผู้เสียหายจะต้องได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย และอีกทั้งยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องเป็นผู้พิจารณาและดำเนินการให้ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ค่าเสียหายด้วย

ถามว่า รถจักรยานยนต์รับจ้างขนส่งผู้โดยสารดังกล่าว ได้รับใบอนุญาตประกอบการ
ขนส่งและผู้ขับขี่ได้รับใบอนุญาตขับรถขนส่งหรือไม่ จากข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้มา และจากการสอบถามกรมการขนส่งทางบก ปรากฏว่ากรมการขนส่งทางบกไม่เคยอนุญาตให้รถ
จักรยานยนต์รับจ้างประกอบกิจการขนส่ง และไม่เคยออกใบอนุญาตให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
รับจ้างขับรถขนส่ง ดังนั้น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ขนส่งผู้โดยสารที่วิ่งรับจ้างอยู่ทุกวันนี้ ล้วนกระทำความผิดทางอาญามีโทษทั้งจำคุกและโทษปรับ จึงมีปัญหาต่อไปว่า ใครมีหน้าที่ในการห้ามปรามและจับกุมผู้กระทำผิดทางอาญาเหล่านี้ คำตอบที่แน่นอน คือ เจ้าพนักงานตำรวจในทุกท้องที่ที่มีการกระทำความผิด โดยไม่จำต้องให้มีผู้มาร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เพราะความผิดตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก เป็นความผิดที่กระทำต่อ “ รัฐ ” อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เมื่อพบเห็นการกระทำความผิดเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นจับกุมสอบสวนและดำเนินคดีต่อไปได้ และเชื่อว่าคงไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ใด จะปฏิเสธว่าในท้องที่ของตนไม่มีรถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือไม่เคยเห็นรถจักรยานยนต์รับจ้างในท้องที่ของตน อย่างแน่นอน

ข้อที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อรู้เห็นการกระทำความผิดดังกล่าว แล้วไม่
จับกุมดำเนินคดีจะมีผลอย่างไร และจะต้องรับผิดชอบอย่างไร ในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกหนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพัน บาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากบทบัญญัติดังกล่าว ทำให้เห็นได้ว่า เมื่อทราบว่า มีความผิดเกิดขึ้นและ
รู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว ไม่จับกุมดำเนินคดี เจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่ที่พบเห็นการกระทำ อาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะผลของการไม่จำกุมดำเนินคดี ทำให้มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งอาจไปก่อให้เกิดความเสียหายให้กับผู้โดยสารหรือผู้อื่นได้ แต่ก็เชื่อได้แน่นอนว่า คงไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจคนใดจับเจ้าพนักงานตำรวจด้วยกันเพื่อดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ดังกล่าว เพราะไม่รู้ใครจะจับใคร ซึ่งไม่สำคัญ เพราะคำตอบหรือความเห็นในการเขียนเรื่องนี้ แต่ผลของการเป็นผู้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นี้ อาจมีผลทำให้ต้องรับผิดในทางแพ่งต่อผู้ได้รับความเสียหายที่เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างดังจะกล่าวต่อไป

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใด จงใจ หรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นใด โดยผิดกฎหมาย ทำให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี
อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้อง
ใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการ นั้