วิเคราะห์ข้อสอบกฎหมายวิธีสบัญญัติ1 ภาค 2/2547

ชนินาฏ ลีดส์

ข้อ 1 นายดำและนายแดงคนสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศลาว นายดำซื้อบ้านพร้อมที่ดินของนายแดงซึ่งอยู่ที่ประเทศลาว โดยทำสัญญาซื้อขายกันที่นครเวียงจันทร์ นายดำชำระเงินให้นายแดงครบถ้วนแล้ว แต่นายแดงไม่ยอมโอนบ้านและที่ดินให้นายดำตามสัญญา ต่อมานายดำและนายแดง เดินทางมาที่จังหวัดนครพนม เพื่อติดต่อธุรกิจเป็นเวลาหลายวัน ดังนี้ นายดำจะฟ้องต่อศาล ไทยขอให้บังคับนายแดงโอน บ้านและที่ดินให้นายดำตามสัญญาได้หรือไม่

แนวตอบ

หลักกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 ทวิ คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ … ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

วินิจฉัย

การที่นายดำฟ้องบังคับนายแดงให้โอนบ้านและที่ดินให้ตามสัญญาเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ แต่อสังหาริมทรัพย์นั้นมิได้ตั้งอยู่ในเขตศาลไทย โดยอยู่ที่ประเทศลาว ทั้งนายแดงก็มิได้ มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลไทยเพราะมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศลาว นายดำจึงไม่อาจฟ้องนายแดงต่อศาลไทย ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขต หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ทวิ ได้นายดำจึงฟ้องขอให้บังคับนายแดง โอนบ้านและที่ดินตามสัญญาต่อศาลไทยไม่ได้

ข้อ 2 คดีก่อนนายเอกฟ้องนายโท ขอแบ่งทรัพย์มรดกตามเอกสารฉบับหนึ่ง ซึ่งนายเอกอ้างว่าเป็นพินัยกรรม ศาลพิพากษายกฟ้องว่าไม่ใช่พินัยกรรม คดีถึงที่สุด ต่อมานายเอกฟ้องนายโท ขอแบ่งทรัพย์โดยอ้างเอกสารฉบับเดียวกันนั้น ซึ่งนายเอกอ้างในคดีหลังว่าเอกสารดังกล่าว เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ของบุคคลอื่นที่ยกทรัพย์ให้แก่นายเอก ให้วินิจฉัยว่าคดีหลังเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่

แนวตอบ

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 148 คดีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

วินิจฉัย

ตามปัญหาแม้คดีก่อนนายเอกกับนายโทเป็นคู่ความเดียวกันและศาลพิพากษายกฟ้องว่าเอกสาร ดังกล่าวไม่ใช่พินัยกรรม คดีถึงที่สุด แต่คดีก่อนประเด็นที่ได้วินิจฉัยคือเอกสารฉบับนั้นไม่ใช่พินัยกรรม ส่วนคดีหลังประเด็นที่นายเอกขอให้ศาลวินิจฉัยว่า เอกสารดังกล่าวเป็น สัญญาประนีประนอมยอมความของบุคคลอื่น ที่ยกทรัพย์ให้แก่นายเอก แม้อ้างเอกสารฉบับเดียวกัน แต่ก็มีประเด็นที่วินิจฉัยเป็นคนละเหตุกัน เพราะประเด็นในคดีก่อนคือขอแบ่งทรัพย์มรดก ส่วนประเด็นในคดีหลังคือ ขอแบ่งทรัพย์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ของบุคคลอื่นที่ยกทรัพย์ให้แก่นายเอก คดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะไม่ใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ( ฎีกาที่ 1254/2493 ประชุมใหญ่ )

ข้อ 3 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายจริง แต่จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธหลายประการและให้การอ้างด้วยว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทดังโจทก์ฟ้อง ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ ใครมีภาระการพิสูจน์

แนวตอบ

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้น ตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง

วินิจฉัย

การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าได้กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายจริง แต่จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ และอ้างด้วยว่า จำเลยที่ 1 มิได้ประมาทเลินเล่อ ดังนี้โจทก์ยังมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อหรือไม่ เพราะแม้จำเลยที่ 1 ให้การยอมรับตามคำฟ้องของโจทก์ ก็หามีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ เนื่องจากคำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นที่เสื่อมเสียแก่จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 ตาม ป . วิ . พ . มาตรา 59 ประกอบมาตรา 8

 

กลับไปด้านบนกลับด้านบน

ติดต่อชนินาฏอีเมลชนินาฏนะคะnitisart@yahoo.com